Why Nostr? What is Njump?
2023-12-17 07:05:21

Note of Work on Nostr: ศาสตร์แห่งเศรษฐกิจพอเพียง ...

ศาสตร์แห่งเศรษฐกิจพอเพียง จากฝีมือหนุ่มหน้ามนขนดก ตาน้ำข้าว

ทุนนิยมเสรี เป็นศัตรูกับ เศรษฐกิจพอเพียง จริงหรือ?

image

“อาชีพหลักของผู้คนคือการทําการเกษตร เมื่อกระแสทุนนิยมเข้าสู่ชุมชน ทําให้เกิดการใช้เครื่องจักรในการทําการเกษตร เกิดสภาพดินเสื่อม ต้องใช้ปุ๋ย เมื่อมีแมลงรบกวนก็ใช้ยาฆ่าแมลง เมื่อหญ้าเจอปุ๋ยก็งอกงามก็ใช้ยาฆ่าหญ้าตามมา เวลาฉีดสารเคมี ละอองก็จะหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ เมื่อหน้าฝนน้ําจะไหลเซาะซัดพาทุกสิ่งลงสู่ลําห้วยรวมทั้งสารเคมีด้วย สุดท้าย ชาวบ้านได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ไม่สามารถหาอาหารในลําห้วย หรือที่นาของตนเองกินได้ เพราะเหตุผล หนึ่งคือจํานวนทรัพย์ในดิน สินในน้ําลดลง ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ สองพบว่าถ้านําอาหารจากแหล่งน้ําที่ปนเปื้อนสารเคมีมากินอาจทําให้เสียชีวิตได้”

ข้อความนี้เป็นบางส่วนของเนื้อหาโครงการพัฒนาชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่ต้นมีการกล่าวหาทุนนิยมว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมทรามทั้งหลายที่เกิดขึ้น เป็นตัวบ่อนทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สมถะพอเพียงที่เคยมีมาของชุมชน นี่คือมุมมองที่ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นอยู่บ่อยๆ เช่นกันกับผมเองที่ถูกกรอกหูมาตลอดตั้งแต่จำความได้ แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่านะ


มุมมองเหล่านี้มักจะชี้นำว่าทุนนิยมคือระบบที่เอารัดเอาเปรียบ การสร้างผลกำไรคือเรื่องผิดบาป มันส่งเสริมคนรวย ช่วยนายทุน กดขี่คนจนและชนชั้นแรงงาน สร้างความเหลื่อมล้ำให้สังคม ควบคู่ไปกับการกล่อมให้เราเชื่อในหลักเศรษฐกิจพอเพียง(แบบผิดเพี้ยน)ว่าคนเราควรจะอยู่อย่างสมถะ อย่าได้แสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น เราควรทำงานเพื่อเป็นการกุศลไม่หวังผลตอบแทน ถึงขั้น Romanticize ความลำบากยากจนให้เป็นเรื่องน่ายกย่องสรรเสริญ

ไอ้แนวคิดแบบนี้คงจะมาจากพวกที่ต้องการรักษาอำนาจและต้องการกดขี่ผู้คนไว้ต่อไปเรื่อยๆนั่นแหละ และมันสำเร็จซะด้วย มันฝังลึกมานานจนคนทั่วๆไปมองว่านี่แหละคือความจริง แต่ผมว่ามันไม่ใช่เลย มันผิดเพี้ยนไปเยอะ

ด้านที่ทุนนิยมมักไม่ถูกกล่าวถึง

image ความจริงของทุนนิยมมักจะไม่ถูกพูดถึงก็คือ ทุนนิยมมันเป็นธรรมชาติและความจริง มีกลไกตลาดขับเคลื่อนมันไปตามวิถีของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นความโลภ โกรธ หลง มันทำงานของมันเองอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีใครไปกำหนดอะไรมัน และมันยุติธรรม มันให้ผลตอบแทนตามงานที่เราทำ ถ้าเราสร้างคุณค่าเราก็จะได้รับคุณค่ากลับมา และถ้าเราสร้างมันมากจนเหลือเฟือโดยที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากความเชี่ยวชาญชำนาญที่มากกว่าจนเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นได้มันก็จะตอบแทนกลับมาในรูปของกำไร ตามหลักธรรมที่บอกว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว“ และมันควรจะเป็นแบบนั้น แต่การรีดไถเอาคุณค่าจากผู้ที่สร้างมันมาไปให้กับคนที่ไม่สร้างอะไรเลย แล้วบอกว่าเพื่อความเท่าเทียมนั้นมันไม่ใช่ ใครกันแน่ที่เอาเปรียบ ทุนนิยมอนุญาตให้เราสะสมทุนเพิ่มได้มันจึงสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้นให้กับสังคมได้ ตลาดเสรีอนุญาตให้มีการแข่งขันจึงทำให้เกิดการพัฒนาของสังคมมาได้ถึงตรงนี้ และมันพามาถูกทางแล้ว มนุษยชาติควรจะก้าวไปข้างหน้าไม่ใช่ถูกบังคับให้หยุดพัฒนา

เศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่ถูกบิดเบือนเป็นยังไง?

image เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงสิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักจะเป็นภาพของ เรือกสวนไร่นา บ่อน้ำ คอกสัตว์ บ้านไม้หลังเล็ก การใช้ชีวิตอย่างสมถะ สันโดษ ล้าสมัย และไม่มีวันได้ใช้เงินไปกับความชอบส่วนตัว อีกทั้งบางครั้งอาจจะมีการสับสนกับเกษตรทฤษฎีใหม่อีกด้วย ซึ่งก็ดูจะขัดแย้งกับทุนนิยมเหลือเกิน แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย ถ้าเรามาลองพิจารณาตามทฤษฎี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ดูอาจจะเข้าใจมากขึ้น ดังนี้

  • สามห่วง
  1. ความพอประมาณ คือไม่มากหรือน้อยเกินไป มันก็คือความพอดี มันคือสิ่งที่สอดคล้องกับกลไกตลาด คือจุดที่เส้นของระดับอุปสงค์ตัดกับเส้นระดับอุปทาน ถ้าสินค้ามากเกินไปจนมันล้นตลาดราคามันก็จะต่ำลงจนผู้ผลิตไม่มีกำไร ในขณะที่ถ้าสินค้าขาดตลาดราคามันจะสูงจนผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ในที่สุดทุกอย่างจะต้องกลับมาหาสมดุลของมัน (และมันเกิดเองได้โดยไม่ต้องมีรัฐมาแทรกแซง)

  2. ความมีเหตุผล คือคำนึงถึงความเกี่ยวข้อง และความจำเป็น นั่นอาจหมายถึงงานที่เราทำ สินค้าหรือบริการที่เราสร้าง มันจะมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาดด้วยตัวมันเองจริงๆ ไม่ใช่ผลิตขึ้นเพราะการแทรกแซงจากรัฐที่มาสนับสนุนต้นทุน ลดภาษี หรือประกันราคา แต่มันคือเหตุผลที่แท้จริงในการผลิต และยังเกี่ยวข้องระดับความพอประมาณในข้อที่ 1 ด้วย

  3. มีภูมิคุ้มกัน คือการเตรียมความพร้อมต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการผลิตนั้นเกิดจากเหตุผลในข้อ 2 และ มีระดับความพอประมาณที่เหมาะสมในข้อ 1 นั่นแปลว่าเราสามารถคาดการณ์ผลที่จะตามมาในอนาคตและเตรียมพร้อมกับมันได้ หากไม่มีการบิดเบือนกลไกของตลาด อีกทั้งในแง่ของการสะสมทุนนั้นการจัดสรรทุนสำรองไว้รับมือกับผลกระทบที่ไม่คาดคิดก็คงเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีในระบบเศรษฐกิจที่มีเงินมั่นคงและมูลค่าไม่ถูกลดทอนตลอดเวลา

  • สองเงื่อนไข
  1. เงื่อนไขความรู้ การที่เรามีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆ อาจจะนับเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งเช่นกัน ซึ่งมันยังสนับสนุนให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถวางแผนใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างคุ้มค่า และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จึงเกิดการแบ่งงาน หรือ Division of labor มันคือส่วนที่ทำให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าของสังคมมนุษย์

  2. เงื่อนไขคุณธรรม

    ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญา ตรงนี้มองเผินๆคงเป็นแนวคิดทางศีลธรรม แต่ถ้าจะมองให้สอดคล้องกับทุนนิยม ผมเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับ Self-interest เมื่อมองถึงผลประโยชน์ส่วนตนแล้ว การผลิตใดๆจะเกิดขึ้นในเงื่อนไขของความมีคุณธรรม เพราะหากมันไม่อยู่บนฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ความพากเพียร และสติปัญญาแล้ว สิ่งนั้นก็ยากที่จะมีคุณค่าในตัวมัน และไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใดเลย สุดท้ายตลาดจะจัดการกับมันเอง

    นี่คือสิ่งที่ทุนนิยมเสรีและเศรษฐกิจพอเพียงกำลังถูกบิดเบือนให้เป็นศัตรูกันโดยใครสักคนที่ต้องการรักษาอำนาจและกดขี่คนอื่นไว้ไม่ให้พัฒนาอยู่หรือเปล่า ที่เขียนมาทั้งหมดคือมุมมองของผมเอง มันอาจจะไม่ถูกเลยก็ได้ ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของทุกท่านครับ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ


นี่เป็นบทความแรกที่ผมลองเขียน(แถ) ติชมแสดงความเห็นได้นะครับ และถ้าชอบก็กด ⚡️มาให้ได้เล้ยฮะ 🫶🏻


ขอบคุณคุณ สำหรับบทความเท่ๆชิคๆเหมือนหน้าตาคนเขียนนี้ (70% ของยอด Zap จะถูกแบ่งให้เจ้าของบทความ)

#siamstr #siamstrOG
#siamesebitcoiners

Author Public Key
npub1yyemsve4xsaqf9frhxukwhnp5k07x9sn9wph7yz2qvffaemtrvlqq3sngv