Why Nostr? What is Njump?
2024-01-21 08:26:23

nakharin on Nostr: นี้มันแนวคิดของ Bitcoiner ชัดๆ ...

นี้มันแนวคิดของ Bitcoiner ชัดๆ

ดาวอส.. ณ ใจกลางแห่งเวทีเศรษฐกิจโลก

ท่ามกลางคำถามที่ยังคงวนเวียนอยู่รอบด้าน สถานที่ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยเงาแห่งความสงสัยจากผู้สังเกตการณ์มากมาย เราได้กลายเป็นสักขีพยานต่อการยืนหยัดอย่างองอาจของ Javier Milei ผู้เป็นประหนึ่งประภาคารแห่งเสรีภาพตั้งตระหง่านท่ามกลางทะเลแห่งความชั่วช้าสามานย์

เสียงของเขา.. ดังก้องกังวานด้วยพลังที่สามารถปลุกเร้าได้แม้กระทั่งจิตวิญญาณที่กำลังหลับใหล สะท้อนผ่านไปทั่วห้องโถง ลมหายใจของเขา.. ซึ่งถูกฉาบไปด้วยเฉดสีของประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และความเชื่อมั่นอันแรงกล้าในเสรีภาพแห่งปัจเจกบุคคล

Milei ผู้พิทักษ์แห่งกำแพงตะวันตกที่กำลังผุกร่อน.. ย่างก้าวเข้าสู่เวทีด้วยคำเตือนถึงโลกที่กำลังเอนเอียงเข้าใกล้หุบเหวแห่งความยากจน โลกที่กำลังหลงไหลไปกับเสียงโห่ร้องของพวกสังคมนิยม คำกล่าวของเขามันราวกับเสียงกีตาร์ร็อคซึ่งเป็นที่โปรดปรานของเจ้าตัว มันแผดเสียงดังก้องผ่านออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ เสียงกีตาร์ทำหน้าที่สะท้อนแทนอารมณ์ที่ได้เห็นบ้านเกิดของตัวเขา.. "อาร์เจนตินา" ร่วงลงมาจากยอดเขาแห่งเสรีภาพ หล่นลงสู่หุบเหวแห่งความเสื่อมทรามแบบรวมศูนย์..

การเดินทางผ่านกาลเวลาของเขา.. มันค่อยๆ ฉายภาพของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการผงาดขึ้นมาจากกองขี้เถ้าแห่งความซบเซาดั่งนกฟีนิกซ์ของ "ระบบทุนนิยม" บทเรียนทางเศรษฐศาสตร์อันเป็นเรื่องราวแห่งชัยชนะของมนุษยชาติ เป็นการพิสูจน์คุณค่าของ "ระบบทุนนิยม" สิ่งที่เป็นวีรบุรุษสำหรับเรื่องราวทางเศรษฐกิจโลก มิใช่ตัวร้ายอย่างที่ใครๆ กำลังยพนามกล่าวหากัน

อย่างไรก็ตาม.. ท่ามกลางเทพนิยายแห่งชัยชนะครั้งนี้ มันก็ตามมาด้วยเสียงกระซิบแห่งความคลางแคลง ซึ่งยังคงสะท้อนอยู่ภายใต้แสงเงาแห่งความยินดีปรีดา

เวทีเศรษฐกิจโลก.. ที่มักถูกมองว่าเป็นชุมชนของเหล่า "อีลีท" ทั้งหลายนั้น จะจริงจังกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือจะแค่ทำไปเพื่อรักษาหน้าของพวกเขา?

ความสงสัยนี้ได้ท้าทายให้เกิดการตั้งคำถาม ไม่เพียงแค่กับเรื่องเล่าที่จะถูกนำเสนอ แต่ยังรวมไปถึงเวทีที่สิ่งเหล่านั้นจะปรากฏออกมาอีกด้วย เพราะมันเป็นเวทีที่ได้เคยสะท้อนให้เราเห็น ถึงการถกเถียงเกี่ยวกับการกำกับดูแลโลก รวมทั้งบทบาทในการกำหนดนโยบายไปจนถึงความคิดเห็นของผู้คนทั่วโลก

Milei ที่ได้แสดงให้เราเห็นถึงปฏิบัติการอันท้าทายอย่างห้าวหาญ แต่ทว่า.. นี่จะเป็นจุดยืนที่แท้จริง หรือจะเป็นเพียงแค่การแสดงที่อาจได้รับอนุญาตจากผู้ที่มีอำนาจ หรือทั้งหมดที่เราได้เห็นนี้.. มันก็เพียงแค่การแสดงที่ถูกจัดฉากขึ้นมาเท่านั้น..

เส้นทางของ Milei ไปสู่เวทีเศรษฐกิจโลกนั้น.. มันเปรียบได้กับส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอุดมการณ์ กลยุทธ์ และบางทีมันอาจจะรวมถึงการละคร

สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักกันได้ว่าในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงนั้น.. เรามักต้องก้าวเข้าไปสู่พื้นที่อันแสนอึดอัด ต้องพูดคุยกับบรรดาผู้คนที่ล้วนคิดต่างไปจากเรา เพื่อที่เราจะได้เปล่งเสียงแห่งความเชื่อในสถานที่ซึ่งอาจจะช่วยให้เราสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงได้

และนี่คือก้าวย่างอันอาจหาญชาญชัย..

สุนทรพจน์ของ Milei อาจกำลังทำหน้าที่ปูทางไปสู่ความเข้าใจ และอาจส่งผลให้เกิดเสียงชื่นชมแซ่ซ้องต่อหลักการเสรีนิยม บนเวทีที่ได้เคยต่อต้านมันมาอย่างยาวนาน..


บทแปลนี้.. ผมไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหรือพยายามบิดเบือนไปจากคำกล่าวของต้นฉบับจนเกินไปนัก แต่ผมก็ได้เลือกใช้คำและสำนวน ที่จะช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับผู้อ่าน และสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ผมเลือกบางคำที่แฝงไปด้วยอารมณ์และสำเนียงการพูดที่อาจจะให้ความเมามันส์ขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยไม่ได้เคร่งครัดกับคำศัพท์ทางเศรษฐศาตร์ การเมืองมากมายแต่อย่างใด (คำไหนแปลไม่ได้ ผมก็อาจทับศัพท์ไปซะเลย) ด้วยเหตุนี้ผมจึงเรียกว่า "แปลนรก" หวังว่าทุกท่านจะเพลิดเพลินไปกับการอ่าน.. หากเพื่อนๆ ท่านใดต้องการจะอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ (ที่ถอดสคริปต์มาจากคลิปยูทูปอีกที) พร้อมทั้งคำแปลภาษาไทยที่ผมได้ทำเอาไว้ในเอกสารการแปลต้นฉบับ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ: Javier Milei's FULL Speech At World Economic Forum Conference


คำกล่าวสุนทรพจน์ของ Milei ในงานประชุม World Economic Forum 2024 (แปลนรก)

<iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/fWUiBDbcIFE?si=-rZIgFD0rDfKtvZ0" title="YouTube video player" frameborder="0" allow="accelerometer; autoplay; clipboard-write; encrypted-media; gyroscope; picture-in-picture; web-share" allowfullscreen></iframe>

"สวัสดีครับ.. ขอบคุณทุกท่านที่ได้มารวมตัวกันในวันนี้

ผมขอนำข่าวร้ายมาฝากทุกๆ ท่านนะครับ.. โลกตะวันตกของเรากำลังตกอยู่ในอันตราย อันตรายเพราะไอ้พวกมือดีที่ควรจะคอยปกป้องค้ำจุน 'คุณค่าของชาวตะวันตก' ไว้ด้วยความความรับผิดชอบ (The values of the West) กลับถูกดึงดูดให้ไปหลงใหลได้ปลื้มกับวิสัยทัศน์ของโลกแบบใหม่ ซึ่งได้ค่อยๆ นำพาพวกเราไปสู่ระบบ 'สังคมนิยม' ระบบที่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความอับจนข้นแค้น

น่าเศร้ามากครับ.. ที่ช่วงหลายสิบปีมานี้บรรดาผู้นำตะวันตกทั้งหลายต่างก็ยอมละทิ้งหลักการแห่ง 'เสรีภาพ' หันไปหา 'แนวคิดนิยมรวมศูนย์' (Collectivism) ต่างๆ นานาตามกันไปหมด บ้างก็ด้วยน้ำใจอยากให้ความช่วยเหลือผู้อื่น บ้างก็เพียงเพราะอยากจะเข้าพวกกับชนชั้น 'อีลีท'!

พวกเราชาวอาร์เจนตินาขอบอกตรงๆ นะครับว่า.. การทดลองระบบรวมศูนย์ที่ว่าเนี่ย.. มันไม่เคยใช่ทางออกของปัญหาที่โลกเราต้องเผชิญ แต่มันกลับเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนทั้งหลายต่างหาก!

เชื่อผมเถอะครับ.. ไม่มีใครรู้ซึ้งมากไปกว่าพวกเราชาวอาร์เจนตินาอีกแล้วล่ะ

แค่ปี 1860 ซึ่งเราเลือกหนทางแห่ง 'เสรีภาพ' (Model of Freedom) หลังจากนั้นเพียง 35 ปี เราก็กลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานี้ที่เราได้หันไปหลงไหลกับระบบ ‘รวมศูนย์’ ลองดูสภาพของพวกเราในตอนนี้กันสิครับ.. เราได้กลายเป็นประเทศอันดับที่ 140 ของโลกไปแล้ว ชาวบ้านชาวช่องจนลงกันทุกวัน!

แต่ก่อนจะลงลึกกันในเรื่องนี้.. ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านมาลองส่องข้อมูลกันหน่อยดีกว่า มาดูกันว่าทำไม 'ระบบทุนนิยมการค้าเสรี' (Free enterprise capitalism) จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่หนทางเดียวที่จะช่วยให้เราขจัดความยากจนบนโลกนี้ได้ แต่ยังเป็นระบบที่ 'ถูกต้อง' ชอบธรรมมากที่สุดอีกต่างหาก! ถ้าเรามาลองย้อนดูประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจกันดีๆ เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 0 จนถึง ค.ศ. 1800 นั้น ผลผลิตมวลรวมต่อหัวของโลก (GDP) แทบจะหยุดนิ่งกันไปเลย ตลอดช่วงเวลานั้นมันแทบไม่มีการขยับ

ซึ่งถ้าเราลองวาดกราฟของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งมนุษยชาติ มันจะออกมาเป็นเหมือนรูปไม้ฮอกกี้ ตัวเลขการเติบโตมันแทบจะเป็นเส้นตรง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากราฟมันจะนิ่งสนิทเกือบ 90% เพิ่งมาพุ่งกระฉูดแตกแบบเอ็กซ์โปเนนเชียลเอาตอนศตวรรษที่ 19 นี้นี่เอง! ก่อนหน้านั้นก็จะมีแค่ช่วงของการค้นพบอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 15 ที่พอจะเห็นอะไรๆ มันคึกคักขึ้นมาบ้าง ส่วนช่วงอื่นๆ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 0 ถึง 1800 นั้น GDP ต่อหัวทั่วโลกแทบจะไม่กระดิกกันเลยครับ!

จะเห็นได้ว่า.. มันไม่ใช่แค่เพียง ‘ระบบทุนนิยม’ (Capitalism) จะทำให้เรารวยระเบิดนับตั้งแต่หันมาเริ่มใช้งานเท่านั้นนะครับ หากเราลองดูข้อมูลกันดีๆ จะเห็นได้เลยว่าการเจริญเติบโตมันก็ยิ่งพุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 0 จนถึงปี 1800 GDP ต่อหัวนั้นแทบจะนิ่งสนิท เพิ่มขึ้นแค่เพียงปีละ 0.02% เท่านั้น ซึ่งก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีการเติบโต แต่พอเข้าสู่ศตวรรษช่วงที่ 19 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมเท่านั้นเอง GDP ต่อหัวก็พุ่งทะยานขึ้นไปที่ 0.66% ต่อปี การจะรวยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า คุณต้องใช้เวลาราวๆ 107 ปี

ทีนี้.. ในช่วงปี 1900 ถึง 1950 ความรุ่งโรจน์มันยิ่งพุ่งขึ้นแรง เราทะยานไปที่ 1.66% ต่อปี ส่งผลให้เพียงแค่ 66 ปี เราก็รวยกันขึ้นสองเท่า ไม่ต้องรอนานเป็น 107 ปีกันอีกแล้ว แล้วจากปี 1950 จนถึง 2000 ยิ่งโหดไปกันใหญ่ คุณจะเห็นการเติบโตที่ 2.1% เท่ากับว่าเพียงแค่ 33 ปีเท่านั้น เราก็รวยเป็น 2 เท่าแล้ว

แต่เรื่องมันยังไม่จบอยู่แค่นั้นนะครับ.. มาถึง ช่วงปี 2000 ถึง 2023 ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ การเติบโตมันก็ยิ่งทวีคูณไปไกลครับ เราทะยานไปที่ 3% ต่อปี หมายความว่าเรารวยขึ้น 2 เท่าได้ในเวลาเพียงแค่ 23 ปี!

ซึ่งถ้าหากเรามอง GDP ต่อหัวนับจากปี 1800 จนถึงทุกวันนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าหลังจากมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม GDP ต่อหัวของโลกได้ทะยานขึ้นเกิน 15 เท่า ไปแล้วครับ!

เรียกได้ว่าความเจริญมันพุ่งกระฉูด ช่วยดึงประชากรโลกกว่า 90% ขึ้นมาจากหลุมแห่งความยากจน อย่าลืมนะครับว่า.. ก่อนปี 1800 เรามีคนยากจนข้นแค้นทั่วโลกในสัดส่วนมากถึง 95% เลยทีเดียว แต่เมื่อลองตัดภาพกลับมาในปี 2020 ก่อนเราเจอกับโควิด มันลดลงมาเหลือแคเพียง 5% เท่านั้นเอง!

สรุปง่ายๆ เลยนะครับ.. ‘ระบบทุนนิยมการค้าเสรี’ (Free trade capitalism) มันไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่มันเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่จะพาพวกเราหลุดพ้นจากหลุมแห่งความอดอยาก ความยากจน และความอับจนข้นแค้นสุดขั้วได้ทั่วโลก!

ข้อมูลมันชัดเจนนะครับ แทบไม่มีข้อกังขา!

ดังนั้น.. พอจะเห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า.. ทุนนิยมการค้าเสรี (Free enterprise capitalism) นั้นเหนือกว่าในด้านประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (Productive) แบบไม่ต้องสงสัย แต่ไอ้พวกต่อต้านขี้โวยวายก็ดันออกโรงมาโจมตีในด้านศีลธรรม อ้างโน่นอ้างนี่ บอกว่าระบบนี้มันเห็นแก่ตัว ไร้ความเมตตาปราณี กล่าวหาว่าระบบทุนนิยมมันเลวเพราะมัวไปเน้นความเป็นปัจเจก (Individualistic) แต่พวกเขาดันอ้างว่า ‘ระบบนิยมรวมศูนย์’ น่ะดีกว่า เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เสียสละแก่ส่วนรวม..

แต่เอ๊ะ!? แล้วเงินส่วนรวมมันเงินใครกันล่ะครับ?

image

พวกเขาชูธงเรื่อง 'ความเป็นธรรมทางสังคม' ขึ้นมากันใหญ่โต (Social justice) ผมขอบอกเลยนะครับว่า.. ไอ้คอนเซ็ปต์นี้ที่มันฮิตกันจังอยู่ในโลกตะวันตกเนี่ย มันเป็นวาทกรรมเก่าๆ เล่าซ้ำๆ แถวบ้านผมมาตั้ง 80 กว่าปีแล้ว ปัญหาคือไอ้ความเป็นธรรมทางสังคมเนี่ย.. มันไม่ได้ 'เป็นธรรม' กันจริงๆ หรอกนะครับ แถมไม่ได้ส่งเสริม 'ความอยู่ดีกินดี' ของผู้คนอีกด้วย

แต่มันตรงกันข้ามกันเลยครับ.. โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นแนวคิดที่เน้นการ 'ขูดรีด' และ 'ไม่แฟร์' เพราะมันมี 'การละเมิด' ซ่อนอยู่ในนั้น มันไม่เป็นธรรมเพราะรัฐก็เอาเงินมาจากการขูดรีดภาษีผู้คน ซึ่งภาษีเนี่ย.. เขาก็จ่ายกันเพราะ 'โดนบังคับ'

ใครจะกล้าพูดได้อย่างเต็มปากบ้างว่า 'เต็มใจ' จ่ายภาษี?

รัฐดำรงอยู่ได้ด้วยการยึดเอาเงินเราผ่านการบังคับเก็บภาษี ยิ่งเก็บภาษีเยอะ ก็ยิ่งต้องบังคับเยอะ เสรีภาพก็ยิ่งลดลง พวกที่เรียกร้องหาความยุติธรรม มองเศรษฐกิจเป็นเหมือนดังก้อนเค้กที่ต้องแบ่งกันกิน

แต่อย่าลืมกันนะครับ! ก่อนที่เราจะแบ่งเค้ก มันก็ต้องมีเค้กก่อน! มันต้องสร้างขึ้นมา ผ่านตลาดในแบบที่ อิสราเอล เคิร์ซเนอร์ (Israel Kirzner) เรียกไว้ว่า 'กระบวนการค้นพบของตลาด' ไงล่ะครับ Market discovery process)

ธุรกิจไหนที่ไม่ยอมปรับตัวไปตามตลาด ไม่คิดที่จะง้อลูกค้า ก็ต้องเจ๊งกันไปตามระเบียบ ถ้าพวกเขาทำของดีออกมา มีราคาที่โดนใจ พวกเขาก็จะยิ่งขายได้และจะยิ่งผลิตออกมาเยอะ ตลาดมันก็ไม่ต่างอะไรกับ ‘เข็มทิศ’ ที่คอยทำหน้าที่ชี้ทางให้กับผู้ลงทุนในระบบทุนนิยมนั่นแหละครับ

แต่ถ้ารัฐเอาแต่คอยหาทางกลั่นแกล้ง ออกบทลงโทษนักธุรกิจเวลาที่พวกเขาประสบความสำเร็จหรือร่ำรวยกันขึ้นมา ขวางทางพวกเขาในกระบวนการค้นหาของดีในตลาด สุดท้ายพวกเขาก็จะหมดใจ ทำการผลิตกันน้อยลง ชิ้นเค้กก็จะเล็กลง กินกันได้ไม่ทั่วถึง คนทั้งสังคมก็ต้องเจ็บไปเต็มๆ!

พวกนิยมรวมศูนย์ (Collectivism) ติดเบรกการค้นพบในตลาด ยับยั้งการค้นหาสิ่งใหม่ๆ ทำให้บรรดาพ่อค้าโดนจับมัดมือมัดเท้า จนไม่สามารถทำอะไรกันได้ถนัด ผลก็คือคุณภาพของสินค้าลดลง แต่กลับมีราคาพุ่ง! คำถามคือ.. แล้วทำไมพวกนักวิชาการ บิ๊กองค์กรโลก พวกตำราเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการเมือง ถึงดันไปหลงใหลในระบบที่คอยแต่จะขัดขวางความเจริญ แทนที่จะหันมาชื่นชมขอบคุณแก่ระบบทุนนิยมการค้าเสรี ที่เคยพาคน 90% ทั่วโลกหลุดพ้นหายนะจากความจนมาแล้ว ระบบที่เติบโตเร็วแรงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้มันไม่ดีหรือมันไม่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมตรงไหนกัน?

โลกของเราตอนนี้มันสุดยอดไปเลยนะครับ ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะรุ่งโรจน์ ปลอดภัย และมั่งคั่งเท่ายุคนี้ ซึ่งมันได้เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก ทุกวันนี้เรามีอิสระกันมากกว่าเมื่อก่อน มีเงินทองมากกว่า อยู่กันแบบสงบสุขกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไหนเคารพในสิทธิเสรีภาพ ผู้คนต่างมีอิสรภาพในทางเศรษฐกิจ มันก็ยิ่งจะดีไปกันใหญ่

เพราะประเทศเสรีนั้นมีความมั่งคั่งมากกว่าประเทศที่ต้องถูกกดขี่มากถึง 12 เท่า!

แม้แต่คนที่จนสุดๆ ในประเทศเสรี ก็ยังมีชีวิตที่ดีกว่าผู้คน 90% ในประเทศที่ถูกกดขี่ ความยากจนในประเทศเสรีก็น้อยกว่า 25 เท่า ความยากจนขั้นรุนแรงน้อยกว่าถึง 50 เท่า และคนในประเทศเสรีต่างก็มีอายุยืนยาวกว่าคนในประเทศที่ถูกกดขี่มากถึง 25% เลยทีเดียว!

image

ทีนี้ เรามาว่ากันถึง 'แนวคิดอิสรนิยม' (Libertarianism) กันบ้างดีกว่า!

ลองมาฟังคำของอาจารย์ใหญ่ทางด้านอิสรนิยมศึกษาของอาร์เจนตินา ศาสตราจารย์อัลเบอร์โต เบเนกัส ลินช์ จูเนียร์ (Alberto Benegas Lynch Jr.) ซึ่งท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า..

‘อิสรนิยม’ คือ การเคารพสิทธิ์ในการดำเนินชีวิตของผู้อื่นอย่างไม่มีข้อจำกัด ยึดหลักการไม่รุกราน เพื่อปกป้องชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน สิ่งสำคัญพื้นฐานของอิสรนิยม คือ ทรัพย์สินส่วนตัว ตลาดเสรีที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ มีการแข่งขันกันอย่างเสรี แบ่งงานทำกัน เกิดความร่วมมือกันทางสังคม และสุดท้าย คนที่ประสบชัยชนะในระบบนี้ก็คือคนที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่นด้วยสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า ให้บริการดีกว่า และมีราคาที่โดนใจ!

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในทุนนิยมเขาไม่ใช่พวกขูดรีด แต่เป็นผู้สร้างคุณูปการ! พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ช่วยทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู แท้จริงแล้วพวกเถ้าแก่รวยๆ นี่แหละ คือ ฮีโร่! นี่คือโมเดลที่เราใฝ่ฝันจะได้เห็นมันเกิดขึ้นในอาร์เจนตินา เราจะ อนาคตที่ยึดมั่นในหลักการ อิสรนิยม ปกป้องชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน

เอาล่ะ.. หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงพูดว่าสังคมตะวันตกกำลังตกอยู่ในอันตราย ทั้งที่ระบบทุนนิยมการค้าเสรีและเสรีภาพทางเศรษฐกิจก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่า มันเป็นเครื่องมือขจัดความยากจนในโลกที่ยอดเยี่ยม และตอนนี้ก็ยังเป็นยุคทองของมนุษยชาติเราอีกด้วย

ผมขอพูดตรงๆ เลยนะครับว่า.. สาเหตุที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า... ในประเทศของเราเองที่ควรจะปกป้องค่านิยมของตลาดเสรีเอาไว้ แต่เหล่าผู้นำทางเศรษฐกิจการมืองของเราบางส่วน ซึ่งบางคนก็เพราะความโลภ บ้าอำนาจ คนเหล่านี้กำลังกัดกร่อนรากฐานของอิสรนิยม เปิดทางให้กับสังคมนิยม และอาจนำพาเราไปสู่ความยากจน ข้าวยากหมากแพง และความซบเซา

เราต้องไม่ลืมกันเด็ดขาดว่า.. ‘สังคมนิยม’ (Socialism) นั้นเป็นระบบที่นำเราไปสู่ความยากจนเสมอ และมันได้ล้มเหลวมาแล้วในทุกๆ ประเทศที่เคยลองใช้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม ไปจนถึงเกิดการสังหารหมู่ประชาชนเกิน 100 ล้านคน ปัญหาสำคัญของตะวันตกในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การต่อกรกับพวกที่ยังให้การสนับสนุน "ลัทธิความจน" (Impoverishing-ism) แม้กำแพงเบอร์ลินจะพังทลายลงไปแล้ว และยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์อีกมากมายขนาดไหน แต่ก็ยังคงมีผู้นำ นักคิด และนักวิชาการของเราเองที่ใช้กรอบทฤษฎีอันผิดพลาด ในการบ่อนทำลายรากฐานของระบบที่ได้สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้กับเรามากที่สุดในประวัติศาสตร์

ทฤษฎีที่ผมกำลังพูดถึงเนี่ย.. มันก็คือ “เศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิค” นั่นแหละครับ (Neoclassical economic) มันออกแบบชุดเครื่องมือเจ๋งๆ ออกมา แต่ดันไปลงเอยกับการสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐ เปิดรับสังคมนิยม แถมยังเกิดความเสื่อมทรามทางสังคมไปซะอย่างงั้น! พวกนีโอคลาสสิคมันหลงในโมเดลของตัวเอง ไม่อิงกับโลกความเป็นจริงเอาซะเลย พอเกิดปัญหาขึ้นมาก็กล่าวโทษว่า ‘ตลาดล้มเหลว’ แทนที่จะหันกลับมาทบทวนในรากฐานของโมเดลตัวเอง

ด้วยข้ออ้างที่บอกว่า “ตลาดล้มเหลว” พวกเขาจึงโยนกฎระเบียบลงมาเต็มไปหมด ปั่นป่วนระบบราคา บิดเบือนการคำนวณทางเศรษฐกิจ ผลก็คือเก็บเงินกันไม่อยู่ ลงทุนก็ไม่ได้ ซ้ำร้ายเศรษฐกิจก็ยังไม่โต และความจริงปัญหานี้ก็ยังเกิดขึ้นไม่เว้นกับในพวกนักเศรษฐศาสตร์สายอิสรนิยมแท้ๆ ที่ก็ยังไม่ได้เข้าใจกันเลยว่า “ตลาด” มันคืออะไร เพราะถ้าพวกเขาเข้าใจมันจริงๆ ก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะสามารถเรียกว่าเป็น "ความล้มเหลวของตลาด" (Market failures) แบบนั้นหรอกครับ

ตลาดมันไม่ใช่กราฟเส้นโค้งของอุปสงค์-อุปทานหรอกนะครับ มันคือเครื่องมือที่จะช่วยสร้างให้เกิด “ความร่วมมือทางสังคม” ที่เราเต็มใจจะแลกเปลี่ยนสิทธิ์ครอบครองซึ่งกันและกัน เพราะงั้น.. ตามนิยามนี้ คำว่า "ตลาดล้มเหลว" มันฟังดูย้อนแย้งและเหมือนจะไร้สาระไปเลยล่ะ ถ้าการซื้อขายมันเกิดขึ้นมาจาก ‘ความเต็มใจ’ ก็ไม่มีอะไรที่จะเรียกว่าเป็น “ความล้มเหลว” ได้หรอกครับ ตัวก่อปัญหาที่ทำให้เกิดความล้มเหลวจริง ๆ มันมีแค่ "การใช้อำนาจบังคับ" เท่านั้นเอง (Coercion) และไอ้ตัวที่ชอบบังคับตัวใหญ่ ๆ ในสังคม มันก็หนีไม่พ้น "รัฐ" นี่แหละครับ

ใครก็ตามที่ออกมาโวยวายว่าตลาดล้มเหลว ผมขอให้ลองดูซิว่ามันมีรัฐแทรกแซงตลาดนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าพวกเขาหาไม่เจอ ผมอยากลองเช็คดูอีกทีเถอะ มันต้องมีบางอย่างผิดพลาดแน่ๆ เพราะตลาดมันไม่ล้มเหลวหรอกนะครับ ลองไปดูตัวอย่างที่พวกนีโอคลาสสิคเรียกว่า "ล้มเหลว" ก็อย่างเช่น “โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการรวมศูนย์’ (Concentrated structures) ซึ่งเป็นส่วนที่เทียบเท่ากับโครงสร้างที่ซับซ้อนของเศรษฐกิจ เราคงไม่สามารถอธิบายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1800 จนถึงปัจจุบันได้

(ผู้แปล // ประโยคนี้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกต่อ "ความล้มเหลวของตลาด" ในเรื่องของ "โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการรวมศูนย์" ที่พวกเขากล่าวหา หรือก็คือ สถานการณ์ที่อำนาจหรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจถูกรวมไว้อยู่ในมือของกลุ่มหรือบุคคลจำนวนน้อย (เจ้าสัว) นั่นคือการมองว่า.. ตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดการผูกขาดหรือการครอบงำของบริษัทขนาดใหญ่)

มันน่าคิดใช่มั้ยครับ? นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา ประชากรเพิ่มขึ้น 8 หรือ 9 เท่าตัว แถม GDP ต่อหัวยังโตขึ้นเกิน 15 เท่า ดังนั้น.. มันเลยทำให้ความยากจนขั้นรุนแรงสามารถลดลงจาก 95% เหลือเพียง 5% ได้ แต่นี่มันแปลกตรงที่ผลลัพธ์แบบนี้ มักเกิดขึ้นในโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบผูกขาดนี่แหละครับ แล้วไอ้สิ่งที่สร้างความกินดีอยู่ดีแบบนี้ให้เรา ในมุมมองของนีโอคลาสสิค มันดันกลายเป็น "ตลาดล้มเหลว" ไปได้ยังไง?

image พวกนี้เขาคิดนอกกรอบ.. เวลาโมเดลพัง พวกนีโอคลาสสิคเขาไม่โวยใส่ความเป็นจริงกันหรอกครับ เขาจะหันไปปรับโมเดลกัน พวกเขาเชื่อว่าอย่าไปมัวโกรธฟ้าโกรธฝน เอาพลังมาเปลี่ยนแปลงโมเดลกันดีกว่า เรื่องกระอักกระอ่วนที่พวกนีโอคลาสสิคต้องเผชิญคือ.. พวกเขาโฆษณาว่าอยากให้ตลาดทำงานดีขึ้นโดยการโจมตีไปในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ความล้มเหลว" แต่การทำแบบนั้น พวกเขาไม่ได้แค่เปิดประตูไปสู่สังคมนิยมอย่างเดียวนะครับ มันยังไปสกัดดาวรุ่งอย่างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

ยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ ก็ไปปราบไอ้พวกผูกขาด อย่างการควบคุมราคา สกัดกั้นกำไร มันก็พ่วงไปทำลายผลตอบแทน ซึ่งก็ส่งผลให้ทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วย พูดอีกอย่างก็คือ เวลาที่คุณอยากแก้ "ปัญหาตลาดล้มเหลว" ความจริงแล้วมันเป็นเพราะคุณยังไม่รู้จักตลาดหรืออาจหลงรักในโมเดลล้มๆ แล้ง ๆ ของตัวเอง ผลลัพธ์มันก็หนีไม่พ้นการที่คุณต้องเปิดประตูไปสู่สังคมนิยม ลากคนไปหลุมแห่งความยากจน หลักฐานท่วมหัวทั้งในทางทฤษฎีและประสบการณ์ ต่างก็บอกชัด ๆ ว่าหากรัฐเข้าแทรกแซงมันรังแต่จะเลวร้าย พวกหัวคอมมิวนิสต์ซึ่งแทนที่จะโหยหาอิสรภาพ กลับยิ่งหันไปโหยหาการควบคุม เกิดระเบียบวุ่นวายงอกงามเป็นน้ำพุ สุดท้ายพวกเราก็จนลง กลายเป็นเบี้ยล่าง ต้องปากกัดตีนถีบ ชีวิตแขวนอยู่แค่ปลายปากกาของข้าราชการในตึกโก้หรู

ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าโมเดลสังคมนิยมมันล้มเหลวจนไม่เป็นท่า ในขณะที่โลกเสรีกลับเจริญรุ่งเรืองจนฉุดไม่อยู่ พวกสังคมนิยมก็เลยต้องเปลี่ยนกลยุทธ์จากการปลุกระดมชนชั้นกรรมาชีพ หันไปโหยหา ‘ความขัดแย้งทางสังคม’ ในแบบใหม่ๆ เป็นการแทนที่ ซึ่งก็ส่งผลเสียหายสร้างความแตกแยก ทำลายชุมชน ฉุดรั้งเศรษฐกิจไม่ได้ต่างอะไรกันเลยครับ

ทุกท่านลองนึกดูสิว่า.. การต่อสู้ที่พวกหัวรุนแรงต่างพากันโหมโรงกันอยู่ในตอนนี้ มันไร้สาระและฝืนธรรมชาติกันมากขนาดไหน ผู้ชายและผู้หญิง ก็เกิดมาเท่ากันอยู่แล้ว ไม่ใช่เหรอ? ชาวอิสรนิยมเรา ก็ยึดหลักความเท่าเทียมกันมาตั้งแต่ต้น รากฐานสำคัญของหลักการเราบอกว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ที่ผู้สร้างประทานมาให้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการมีชีวิต เสรีภาพ และสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่พวกเฟมินิสต์หัวรุนแรง (Radical Feminism) ทำอะไร? แค่ออกมาโวยวายเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจ ยัดเยียดงานให้พวกข้าราชการ (Bureaucrats) ที่ไม่เคยทำอะไรให้กับสังคมเลย

อีกสมรภูมิที่พวกสังคมนิยมงัดขึ้นมา คือการปลุกระดมให้คนหันไปสู้กับธรรมชาติ พวกเขาโวยวายว่ามนุษย์อย่างเราทำลายโลก ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมกันแบบสุดโต่ง จนถึงขั้นเสนอให้มีการคุมกำเนิดประชากรหรือส่งเสริมการทำแท้ง มันน่าเศร้านะครับ.. ที่ความคิดแปลกๆ พวกนี้มันถูกฝังรากลึกลงไปในสังคมของเราแล้ว พวกนีโอ-มาร์กซิสต์ (Neo-Marxists) มันฉลาดนะครับ พวกเขายึดสื่อ วัฒนธรรม มหาวิทยาลัย ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลายแหล่ด้วย

ที่อันตรายที่สุดก็ตรงองค์กรระดับโลกพวกนี้แหละ พวกมันมีอิทธิพลมหาศาลต่อการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ แต่ก็โชคดีนะครับ.. เดี๋ยวนี้คนเริ่มตาสว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นแล้วว่าอุดมการณ์บ้าๆ บอๆ พวกนี้ ถ้าเราไม่สู้กันจริงจัง วันหนึ่งเราหนีไม่พ้น พวกเราจะเจอกับรัฐบาลเข้มงวด สังคมนิยมเฟื่องฟู คนรวยกระจุก จนกระจาย และไร้เสรีภาพ ผลที่ตามมาก็คือเราจะอยู่กันกันอย่างยากลำบาก เงินทองฝืดเคือง

ข่าวร้ายสำหรับพวกเรา คือ "ตะวันตก" เริ่มเดินอยู่บนเส้นทางนี้แล้ว อาจดูบ้าสำหรับหลายคน ที่จะบอกว่าตะวันตกหันไปทางสังคมนิยม มันฟังดูเป็นไร้สาระ ใช่แล้ว... แต่จะไร้สาระก็ต่อเมื่อคุณยังคงยึดติดอยู่กับนิยามสังคมนิยมในแบบเดิมๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นิยามแบบนั้น.. ในสายตาผม มันล้าสมัยไปแล้วครับ โลกมันไม่เคยหยุดนิ่ง นิยามของสังคมนิยมก็ต้องอัพเดทไปตามกระแสเช่นเดียวกัน

สมัยนี้ รัฐไม่ต้องยึดโรงงาน ยึดไร่ ยึดนา เหมือนสมัยก่อนหรอกนะครับ จะบังคับชีวิตคนทั้งประเทศมันก็ง่ายนิดเดียว แค่มีของเล่นอย่าง การพิมพ์เงิน พอกหนี้ ทุ่มเงินอุดหนุน กดดอกเบี้ย คุมราคาสินค้า สร้างกฎระเบียบสารพัด แก้ปัญหาตลาดที่เค้าว่ามันล้มเหลวนั่นแหละครับ แค่นี้ก็ชักใยชักชีวิต ชักชะตาคนเป็นล้านๆ ได้สบายๆ แล้ว

นี่แหละครับ.. ทำไมข้อเสนอการเมืองที่คนนิยมกันทั่วไปในตะวันตก มันถึงดูหลากหลาย แต่ถ้าแกะเอาแก่นมันออกมา ก็มักจะเป็นไอเดียแบบ 'รวมศูนย์' ไปซะหมด ทั้งพวกคอมมิวนิสต์ตัวจริง เสแสร้งเป็นซ้ายจัด (Openly Communist) หรือพวกเผด็จการลับๆ ล่อๆ อ้างโน่นอ้างนี่ (Fascist) ไม่ว่าจะเป็นนาซี (Nazis) สังคมนิยมแบบเบ็ดเสร็จ (Socialists) ประชาธิปไตยแบบคุมเข้ม (Social democrats) พวกแอบชาตินิยม (National socialists) หรือแม้แต่คริสต์ประชาธิปไตย (Christian democrats), Progressive, Populist, Nationalists หรือ globalists ปฏิรูปสุดโต่ง ยึดหลักคนส่วนใหญ่ อะไรทำนองนั้น ซึ่งถ้าดูเผินๆ เหมือนจะไม่เหมือนกันใช่มั้ยครับ?

แต่ลึกๆ แล้ว แก่นมันก็เหมือนๆ กัน นั่นก็คืออยากให้ 'รัฐเป็นใหญ่' ชีวิตคนเราจะเดินไปทางไหน รัฐต้องเป็นคนกำหนด

image

ทุกท่านที่อยู่กันตรงนี้ ล้วนสนับสนุนแนวทางที่สวนทางกับสิ่งที่เคยพาให้มนุษยชาติเจริญรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์ ผมมาที่นี่วันนี้.. เพื่อจะชวนพี่น้องชาวโลกตะวันตกทุกคน กลับมาเดินบนเส้นทางสู่ความมั่งคั่งกันอีกครั้ง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลที่ไม่ยุ่งรุ่มร่ามกับเรามากเกินไป และการเคารพทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลอย่างเต็มที่ คือหัวใจสำคัญที่จะปลุกเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นมาอีกครั้ง

อย่าคิดว่าความจนที่ระบบรวมศูนย์สร้างขึ้นมันเป็นแค่ฝันร้าย หรือเป็นโชคชะตาที่เราไม่อาจเลี่ยง พวกเราชาวอาร์เจนตินารู้ดี มันเป็นเรื่องจริงที่เราประสบมากับตัว เคยเห็นมากับตา พราะก็อย่างที่ผมบอกไปตั้งแต่แรก นับตั้งแต่วันที่เราตัดสินใจทิ้งโมเดลเสรีภาพที่เคยทำให้เราผงาด พวกเราก็ติดอยู่ในวังวนแห่งความตกต่ำ วันๆ จมดิ่งลงไป เรายิ่งจนลงทุกวัน

ฟังกันให้ชัดนะครับ! พวกนักธุรกิจทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ตรงนี้หรือติดตามอยู่ทั่วโลก อย่าไปกลัว! อย่าหวั่นไหว ทั้งไอ้พวกนักการเมืองปลอมๆ หรือพวกขี้เกียจเกาะรัฐกิน อย่าปล่อยให้พวกนักการเมืองที่ห่วงแต่เก้าอี้ตัวเองมาข่มขู่ คุณคือผู้สร้างคุณูปการ คุณคือฮีโร่ คุณคือคนสร้างยุคทองของพวกเรา!

อย่าปล่อยให้ใครมาบอกว่าความทะเยอทะยานของคุณมันเลว ถ้าคุณรวยเพราะขายของดี ราคาถูก ทุกคนก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน คุณคือคนที่สร้างประโยชน์ให้สังคม อย่าปล่อยให้รัฐเข้ามายุ่ง! รัฐไม่ใช่คำตอบ รัฐนั่นแหละตัวปัญหา! คุณต่างหากคือตัวเอกของเรื่องนี้

และจำไว้นะครับ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อาร์เจนตินาจะยืนอยู่เคียงข้างคุณ ขอบคุณมากครับ! พวกเราตะโกนดังๆ ออกไปเลยครับ เสรีภาพจงเจริญ!!

แม่งเอ้ย!! . . (Milei ได้สบถทิ้งท้ายไว้บนเวทีว่า Damn it!)

image


ไฮไลท์สุนทรพจน์ของ Javier Milei

สุนทรพจน์ของ Javier Milei นั้นดุเดือด ทรงพลัง เปิดโปงความจริง ซัดนโยบายที่ฉุดรั้งความเจริญ เขาชวนให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพ และร่วมกันปกป้องอนาคตของสังคมอิสรภาพ พร้อมทั้งท้าทายนโยบายแบบรวมศูนย์และการแทรกแซง ผสมผสานไปด้วยปรัชญาการเงิน บทเรียนประวัติศาสตร์ และเสียงร้องขออันเร่าร้อนให้หันหน้าเข้าสู่เสรีนิยม ภาษาที่เขาใช้นั้นมีทั้งแนววิชาการ หลักฐานเชิงประจักษ์ และวาทศิลป์กระตุกเร้า จุดมุ่งหมายอยู่ที่การสนับสนุนทุนนิยมเสรีและโจมตีแนวทางสังคมนิยม

รากฐานของสุนทรพจน์นี้ฝังลึกอยู่ในหลักการเสรีนิยม (Libertarianism) และอนาธิปไตยทุนนิยม (Anarcho-Capitalism) เขาใฝ่ฝันจะได้เห็นสังคมที่ไร้รัฐบาล ทุนนิยมเสรีและกรรมสิทธิ์ของเอกชนเบ่งบานเต็มที่ เห็นได้จากการเน้นย้ำซ้ำๆ ถึงความสำเร็จของระบบทุนนิยม และการวิจารณ์โมเดลสังคมนิยม

ต่อไปนี้คือตัวอย่าง Statement ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์บางส่วนของสุนทรพจน์ในครั้งนี้

วิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบของระบบรวมศูนย์

"When we adopted the model of freedom back in 1860, in 35 years, we became a leading world power. And when we embraced collectivism over the course of the last 100 years, we saw how our citizens started to become systematically impoverished, and we dropped to spot number 140 globally"​​.

"เมื่อเรายึดถือโมเดลแห่งอิสรภาพในปี 1860 ภายใน 35 ปี เราผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลก แต่เมื่อเรายอมรับระบบรวมศูนย์ตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เราเห็นพลเมืองของเราถูกกดขี่อย่างเป็นระบบ และตกลงมาอยู่ที่อันดับ 140 ของโลก"

ปกป้องระบบทุนนิยม

"The conclusion is obvious: far from being the cause of our problems, free trade capitalism as an economic system is the only instrument we have to end hunger, poverty, and extreme poverty across our planet. The empirical evidence is unquestionable"​​.

"บทสรุปชัดเจน แทนที่จะเป็นสาเหตุของปัญหา ระบบทุนนิยมการค้าเสรีในฐานะระบบเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือเดียวที่เรามีเพื่อยุติความอดอยาก ความยากจน และความยากจนข้นแค้นบนโลกนี้ หลักฐานเชิงประจักษ์มันปฏิเสธไม่ได้"

วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นธรรมทางสังคม

"So they, therefore, advocate for social justice, but this concept, which in the developed world became fashionable in recent times, in my country has been a constant in political discourse for over 80 years. The problem is that social justice is not just and it doesn't contribute either to the general well-being"​​.

"พวกเขามุ่งส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งแนวคิดนี้เพิ่งได้รับความนิยมในโลกตะวันตก แต่ในประเทศของผม มันเป็นวาทกรรมการเมืองมาเกิน 80 ปี ปัญหาคือ ความยุติธรรมทางสังคมนั้นไม่ยุติธรรม และไม่ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี"

ตลาดในฐานะกลไกค้นหา

"If the goods or services offered by a business are not wanted, the business will fail unless it adapts to what the market is demanding. If they make a good quality product at an attractive price, they would do well and produce more"​​.

"หากสินค้าหรือบริการที่ธุรกิจเสนอนั้นไม่เป็นที่ต้องการ ธุรกิจจะล้มเหลว เว้นแต่จะปรับตัวตามความต้องการของตลาด หากพวกเขาผลิตสินค้าคุณภาพดีในราคาที่น่าดึงดูด พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จและผลิตมากขึ้น"

วิจารณ์เศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิก

"The theoretical framework to which I refer is that of neoclassical economic theory, which designs a set of instruments that, unwillingly or without meaning to, ends up serving the intervention by the state, socialism, and social degradation"​​.

กรอบทฤษฎีที่ผมอ้างถึงคือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิก ซึ่งออกแบบชุดเครื่องมือที่โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้เจตนา กลับกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐ สังคมนิยม และการเสื่อมโทรมทางสังคม"


ในบริบทของสุนทรพจน์ คำว่า "ระบบรวมศูนย์" (Collectivism) ถูกใช้เพื่อสื่อความหมายหลายอย่าง ซึ่งโดยสรุปภายในบริบทของมุมมองเสรีนิยมของ Milei ระบบรวมศูนย์ถูกมองว่าเป็นระบบสังคมเศรษฐกิจที่เน้นอำนาจรัฐและเป้าหมายของกลุ่ม บ่อยครั้งมักละเลยสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และถูกมองว่าขัดแย้งกับหลักการของการประกอบการอย่างเสรีและเสรีภาพส่วนบุคคล

การควบคุมและแทรกแซงของรัฐ (State Control and Intervention): ระบบรวมศูนย์ในบริบท หมายถึงระบบเศรษฐกิจและการเมือง โดยรัฐมีบทบาทเด่นในการควบคุมและกำกับดูแลด้านต่างๆ ของสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการแทรกแซงตลาด การเป็นเจ้าของทรัพยากรของรัฐ และการตัดสินใจแบบรวมศูนย์

การปราบปรามเสรีภาพปัจเจกบุคคล (Suppression of Individual Freedoms): การใช้คำว่าระบบรวมศูนย์ของ Milei บ่งบอกถึงระบบที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มหรือประโยชน์ส่วนรวมเหนือสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ในมุมมองนี้ ระบบรวมศูนย์ถูกมองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและอำนาจตนเองของปัจเจก เพื่อสนองเป้าหมายสังคมหรือรัฐที่กว้างขึ้น

การกระจายรายได้และความยุติธรรมทางสังคม(Economic Redistribution and Social Justice): คำศัพท์นี้ยังใช้เพื่ออธิบายระบบเศรษฐกิจและนโยบายที่เน้นการกระจายความมั่งคั่งและทรัพยากรในนามของความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคม Milei วิพากษ์วิจารณ์แง่มุมนี้ของระบบรวมศูนย์ โดยมองว่ามันไม่ยุติธรรมและไร้ประสิทธิภาพโดยเนื้อแท้

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและการยอมจำนน (Uniformity and Conformity): ระบบรวมศูนย์ ในสุนทรพจน์ของ Milei ชี้ให้เห็นแนวโน้มในการบังคับใช้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของความคิดและการกระทำภายในสังคม ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับค่านิยมเสรีนิยมที่ยกย่องความหลากหลายทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออก และการเลือกของปัจเจกบุคคล

ความแตกต่างจากทุนนิยมเสรี (Contrast to Free Market Capitalism): ในบทสนทนาของไมเล่ย์ ระบบรวมศูนย์มักถูกเปรียบเทียบกับทุนนิยมเสรี ในขณะที่เขาสนับสนุนระบบหลังซึ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสรีภาพส่วนบุคคล ระบบรวมศูนย์ถูกมองว่าขัดขวางความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการริเริ่มของปัจเจกบุคคล


ในท่อนนี้

"Consequently, if someone considers that there is a market failure, I would suggest that they check to see if there is state intervention involved, and if they find that that's not the case, I would suggest that they check again because obviously, there's a mistake. Market failures do not exist. An example of these so-called market failures described by the neoclassicals are the concentrated structures of the economy. However, without increasing returns to scale functions, whose counterpart are the complicated structures of the economy, we couldn't possibly explain economic growth since the year 1800 until today."

"ดังนั้น ถ้าใครบอกว่ามี 'ความล้มเหลวของตลาด' ผมอยากให้ตรวจสอบดูก่อนว่ามีการแทรกแซงจากรัฐด้วยไหม ถ้าไม่มี ผมก็อยากให้ตรวจซ้ำอีก เพราะชัดเจนว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ 'ความล้มเหลวของตลาด' มันไม่มีอยู่จริง! ตัวอย่างของสิ่งที่พวกนีโอคลาสสิกเรียกว่า 'ความล้มเหลวของตลาด' ก็คือโครงสร้างเศรษฐกิจแบบกระจุกตัว แต่ถ้าปราศจากฟังก์ชัน 'ผลตอบแทนต่อขนาดที่เพิ่มขึ้น' ซึ่งมีคู่แฝดคือโครงสร้างที่ซับซ้อนของเศรษฐกิจ เราคงอธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1800 จนถึงปัจจุบันนี้ไม่ได้หรอก!"

คำว่า "Increasing returns to scale functions" หมายถึง ฟังก์ชันที่ผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้นเมื่อขนาดของการผลิตเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตรถยนต์ที่เพิ่มจำนวนสายการผลิตจาก 1 สายเป็น 2 สาย จะทำให้สามารถผลิตรถยนต์ได้มากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนมากนัก ฟังก์ชันนี้มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่มากขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง

Milei อ้างว่า Increasing returns to scale functions (ผลตอบแทนต่อขนาดที่เพิ่มขึ้น) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 จนถึงปัจจุบัน โดยกล่าวว่า หากไม่มีฟังก์ชันผลตอบแทนต่อขนาดที่เพิ่มขึ้น บริษัทก็จะไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงหรือหยุดชะงัก

Milei ยังได้กล่าวอีกว่าฟังก์ชัน 'ผลตอบแทนต่อขนาดที่เพิ่มขึ้น' มักพบในอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างซับซ้อน เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมบริการ เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้มักจะมีต้นทุนคงที่สูง (เช่น ต้นทุนในการสร้างโรงงาน ต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ต้นทุนในการจ้างพนักงาน เป็นต้น) การเพิ่มขนาดการผลิตจึงช่วยให้บริษัทสามารถกระจายต้นทุนคงที่เหล่านี้ออกไปได้ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

ดังนั้น Milei จึงสรุปว่า หากเราต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เราควรส่งเสริมให้เกิดฟังก์ชัน 'ผลตอบแทนต่อขนาดที่เพิ่มขึ้น' ตัวอย่างเช่น รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่มากขึ้นและต้นทุนที่ต่ำลง

Author Public Key
npub1l6zhttxkw7a5nrd7jcgytcvehxv4jswqqm4n32cuctysq0nkd54s5zjtr7