Why Nostr? What is Njump?
2023-10-17 09:19:06

It's over Anakin, I have the high ground. on Nostr: #วิกฤติซับไพรม์ ...

#วิกฤติซับไพรม์

วันนี้จะมาเล่าเรื่องวิกฤติซับไพรม์แบบสรุปย่อสุดๆ ให้ฟังกัน

เรื่องมันย้อนไปไกลๆ ตั้งแต่ยุค New Deal เลยแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่องค์กรที่เกิดขึ้นตอนยุค New Deal มามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติในครั้ง subprime ด้วย องค์กรนั้นก็คือ Fannie Mae

ถ้าอธิบายแบบง่ายๆ ว่าแฟนนี่เมคืออะไร มันก็คือองค์กรการเคหะแห่งชาติเวอชั่นเมกานั่นเอง

มาว่าเรื่องซับไพรม์กัน คือตัวแฟนนี่เมเนี่ยเหตุผลหนึ่งในการก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ประชาชนสามารถกู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

เริ่มต้นมันก็เหมือนนโยบายปกติทั่วไป แฟนนี่เมปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านโดยที่มีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันให้ว่าถ้ามีปัญหาอะไรขึ้นมารัฐจะเป็นผู้เข้ามาอุ้มเอง

ในเวลาต่อมาตัวแฟนนี่เมก็ได้แยกร่างออกเป็นสองส่วนเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ขณะเดียวกันสภาสหรัฐก็ได้ตั้งองค์กรใหม่ที่มีหน้าที่ในการปล่อยกู้อีกอันออกมาด้วยก็คือ Freddie Mac ตอนที่เพิ่งมีเรื่องวิกฤติซับไพรม์ หลายคนน่าจะคุ้นสองชื่อนี้อยู่เพราะเป็นองค์กรรัฐที่มีบทบาทสำคัญมากในวิกฤตครั้งนี้

ทีนี้ทั้งแฟนนี่เมและเฟรดดี้แม็ค ก็ปล่อยกู้บ้านไปตามเรื่องตามราวที่ตัวเองโดนก่อตั้งมาโดยมีรัฐเป็นแบ็คว่าเกิดปัญหาออะไรรัฐจะช่วย ก็ปล่อยกู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้ทั้งแฟนนี่กับเฟรดดี้เป็นเจ้าของหนี้ก้อนมหึมาเพื่อให้ปล่อยกู้ได้ต่อเนื่องและเพิ่มสภาพคล่อง จึงได้มีประดิษฐกรรมส่วนหนึ่งเกิดขึ้นนั่นก็คือ Mortgage-backed Security หรืออธิบายสั้นๆ ก็คือหลักทรัพย์ที่มีหนี้กู้ซื้อบ้านค้ำประกัน คนที่ซื้อหลักทรัพย์ตัวนี้ไปก็จะได้ดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ซื้อก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้แทนแฟนนี่และเฟรดดี้ ผลก็คือทำให้แฟนนี่และเฟรดดี้สามารถปล่อยกู้ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่เริ่มขาดสภาพคล่องก็ออกหลักทรัพย์มาขายได้ แล้วหลังจากนั้นพวกบริษัทเอกชนอื่นๆ ก็เริ่มออกขายหลักทรัพย์แบบนี้ตามแฟนนี่ด้วยโดยที่รัฐไม่ว่าอะไรเพราะตอนนั้นต้องการให้คนมีเงินซื้อบ้าน

หลังปล่อยกู้ไปมหาศาล มันจะมีใครมากู้เพิ่มนักหนาล่ะ ลูกค้าชั้นดีมันก็หดหายไปเรื่อยๆ พวกบริษัทที่ทำเรื่องปล่อยกู้รวมทั้งแฟนนี่กับเฟรดดี้ก็ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ชั้นที่มีความสามารถชำระหนี้ที่ต่ำๆ ลงมา พอดีกันกับที่ตอนนั้นมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติทำให้มีการกระตุ้นให้ทุกๆ ภาคส่วนปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ทุกระดับโดยไม่เลือกปฏิบัติ พูดง่ายๆ ก็คือถึงมันไม่มีหลักทรัพย์ก็ต้องให้กู้ พอเป็นยังงี้ธุรกิจปล่อยกู้ซื้อบ้านก็รุ่งเรืองขึ้นไปอีกเพราะลูกหนี้เพิ่มขึ้นบานเลย

อ๋อ ตกไปเรื่องหนึ่งก็คือในช่วงนี้ธุรกรรมการกู้ส่วนใหญ่ของเอกชนจะมีแฟนนี่กับเฟรดดี้เป็นผู้ค้ำให้ จึงทำให้ภาคเอกชนเองก็พร้อมปล่อยกู้โดยไม่ลังเล

ต่อมาก็มีนวัตกรรมทางการเงินอีกอย่างปรากฎตัวขึ้น นั่นก็คือการเอาหนี้ซื้อบ้านทั้งหลายมากองรวมกันแล้วมัดช่อแบ่งขายแบ่งเป็นลำดับๆ เช่น
มัดนี้ประกอบด้วยหนี้ชั้นดี 80% หนี้ห่วย 20% เป็นต้น เพื่อออกขายให้ผู้ลงทุนที่มีความต้องการแตกต่างกันไป อย่างเช่น กองทุน กองทุนต่างๆ จะโดนกฎหมายบังคับเอาไว้ว่าซื้อได้เฉพาะหลักทรัพย์ที่มีเรตติ้งระดับ A+ ขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งเรื่องช่อหนี้เนี่ยก็มีที่มาที่ต้องเล่าย้อนไปอีก เพราะเรื่องราวนี้ยาวนานมากข้ามวิกฤติการเงินย่อยๆ ครั้งอื่นด้วย อย่างในท่อนแรกที่เล่าไปเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980-1990s ก่อนวิกฤติดอทคอมซะอีก

ก่อนหน้านี้เราพูดถึงกองทุนซึ่งต้องซื้อหลักทรัพย์ที่เรตติ้งดีๆ ไปแล้ว แต่ใครล่ะที่ทำหน้าที่จัดเรตติ้ง?

คนที่ทำหน้าที่จัดเรตติ้งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับตอนที่รัฐบาลสหรัฐอนุญาตให้เอกชนออกหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันด้วยสัญญากู้ซื้อบ้านได้นั่นเอง ผลสืบเนื่องมาจากว่าในตอนแรกหลักทรัพย์ค้ำประกันโดยสัญญากู้บ้าน (MBS หรือ Mortgage-backed Security ต่อไปจะเรียกชื่อนี้นะ สั้นๆ ดี)
คือตอนแรกผู้ที่ออก MBS ได้มีแต่ธนาคารปล่อยกู้บ้านที่เป็นของรัฐก็คือพวกแฟนนี่เมนั่นแหละ ซึ่งทำให้ธนาคารเอกชนปล่อยกู้สู้รัฐไม่ได้เพราะแปรหนี้ให้กลายเป็นหลักทรัพย์ไม่ได้ จึงออกกฎหมายการจัดเรตติ้งหลักทรัพย์ขึ้นมา เพื่อให้เอกชนออก MBS ได้ และให้สถาบันจัดเรตติ้งเป็นผู้จัดเรตว่า MBS อันไหนเรตติ้งเท่าไหร่ ใครควรซื้อ และตามที่เล่าไป กองทุนทั้งหลายถูกบังคับให้ซื้อได้เฉพาะสินทรัพย์ที่เรตติ้งระดับ A+เท่านั้น ซึ่งต่อไปในภายภาคหน้าจากความหละหลวมในการกำกับดูแลภาคการเงินของกลต.และรัฐบาลทำให้มีการปั่นการจัดเรตติ้งทั้งการ lobby และการสอดไส้ MBS, CDO อีกหลากหลายรูปแบบ

เหตุการณ์ทุกอย่างก็ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยที่รัฐออกมาปลดล็อคนั่น นี่ให้เป็นระยะๆ เพื่อให้ปล่อยกู้กันได้เรื่อยๆ และก็มีนวัตกรรมแบบเดียวกับ MBS เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้กองหนี้ที่มีสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่แตกต่างกันออกไปได้ ทั้งนักลงทุนที่พร้อมรับความเสี่ยงและกองทุนทั้งหลายด้วย

หนึ่งในนโยบายที่รัฐออกมากระตุ้นตลาดก็คือ Tax Reform Act ปี 1986 ซึ่งปลดล็อคการลดหย่อนภาษีด้วยดอกเบี้ยเงินกู้จากเดิมที่ลดหย่อนภาษีได้แค่เงินกู้บ้านเท่านั้น เป็นเงินกู้ชนิดอื่นๆ ได้ ซึ่งก็ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่ง เอาบ้านมาจำนองเพื่อใช้หนี้ประเภทอื่น เช่น บัตรเครดิต ทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น

ต่อมา มีนวัตกรรมมาอีกแล้วครับ ครั้งนี้คือ CDO - collateralized debt obligation ซึ่งแต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อมัดช่อสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัทออกมาขาย เช่น พันธบัตรหรือโครงการการลงทุนของบริษัท โดยแต่ละรายการก็มีสินทรัพย์ปลีกย่อยหลายๆ อย่างรวมกันเพื่อขายให้นักลงทุนต่างประเภทกัน อย่างที่อธิบายไปแล้ว และด้วยความร้อนแรงของ MBS นั่นเอง ระยะหลังๆ CDO หลายๆ ตัวก็มาจากมัดช่อของ MBS

จนกระทั่งทศวรรษที่ 1990 ก็เกิดฟองสบู่ซับไพรม์ครั้งแรกแต่ครั้งนี้ยังไม่ใหญ่โตเท่าไหร่เพราะกองหนี้ยังไม่เยอะมาก ในช่วงทศวรรษนี้เองที่ JP Morgan ได้ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ออกมา คือ CDS - credit default swaps ความหมายของมันก็คือ การทำประกันนั่นเอง ผู้ซื้อ CDS จะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับผู้ออก CDS แลกกับว่าหากเกิดหนี้สูญหรือการเบี้ยวหนี้ (default) ผู้ออก CDS จะชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ซื้อ

เหตุการณ์ทั้งหลายก็ดำเนินไปจนสหรัฐเจอวิกฤติดอทคอม ซึ่งทำให้คลินตันออกนโยบายเกี่ยวกับการซื้อบ้านอีกรอบ (ประเทศเหี้ยนี่บ้า เกิดวิกฤติอะไรก็กระตุ้นด้วยการปล่อยกู้ซื้อบ้าน จริงๆ มันมีที่มาแต่ยาวสัส ข้ามไปก่อน)

หลังจากนั้นก็มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งหลายที่ว่าไปข้างต้นต่อไปเรื่อยๆ ทั้ง MBS, CDO, CDS ด้วยเหตุผลทั้งการระดมทุน รักษาสภาพคล่อง ฯลฯ

พระเอกในงานนี้ก็คือ CDS ครับ
หลังจากนี้เหตุการณ์ก็อย่างที่หลายๆ คนเดาได้ ลูกหนี้ผิดชำระหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และประกอบกับรัฐบาลเริ่มตระหนัก (พึ่งนึกได้เหรอ สัส) จึงขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดเงินกู้แต่ก็ไม่ทันแล้วแถมยิ่งซ้ำเติมให้ผู้กู้เดิมไม่มีตังใช้หนี้ด้วย จนทำให้ราคาของ MBS, CDO หลายๆ ตัวลดมูลค่าลง ธนาคารหลายๆ แห่งก็กระทบจากเรื่องนี้จนขาดทุน
แล้วพระเอกเราก็เข้ามามีบทบาทครับ คือ เจ้า CDS ซึ่งก็อย่างที่เล่าไปว่ามันคือการทำประกันกันเบี้ยวหนี้นั่นเอง ปัญหาหลักๆ ของการออก CDS ก็คือในตอนนั้นกฎหมายประกันของสหรัฐหละหลวมมาก ทำให้ออก CDS ไปเกินกว่าเงินทุนสำรองที่ตนมี ถามทำไมถึงกล้าออกเกินเพราะในตอนนั้นไม่คิดว่าตลาดจะล่มเพราะรัฐค้ำประกันไว้

ทีนี้ที่ทุกอย่างล้มเป็นโดมิโนเพราะมีบริษัทการเงินที่เห็นโอกาสจาก CDS ที่ออกมาค้ำตลาดซับไพรม์ สิ่งที่เขาเห็นก็คือ ตลาดต้องล้มแน่ๆ และรัฐก็ไม่มีทางอุ้มไหว ที่เขาทำก็คือไปซื้อ CDS ซับไพรม์หรือพูดง่ายๆ ว่า แทงว่าตลาดจะล่มนั่นแหละ

นึกภาพง่ายๆ คือนายเอซื้อประกันอุบัติเหตุรถยนต์ตัวเองและก็มีนายบี นายซี นายดีและอื่นๆ อีกมาซื้อประกันตัวเดียวกันเพราะรู้ว่าเดี๋ยวรถนายเอต้องชนแน่ๆ ปัญหาก็คือตรงนี้แหละ โดยทั่วไปในการบังคับใช้กฎระเบียบเราไม่ควรมีสิทธิซื้อประกันสินทรัพย์ที่เราไม่ได้ถือครอง

พอถึงเวลาตลาดล้มจริงๆ จึงไม่ล้มแค่ธนาคารที่ปล่อยกู้แต่ล้มไปถึงบริษัทประกันด้วย อย่างหลายคนจะเห็นว่าตอนมีรายงานข่าวเรื่องซับไพรม์ AIG ซึ่งเป็นบริษัทประกันใหญ่ของสหรัฐจะล้มด้วย นั่นก็เพราะ CDS กับ CDO ที่ AIG ถือไว้นั่นเอง เพราะเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ล้ม ประกันไม่ได้เพียงแค่ต้องชดใช้ให้นักลงทุนที่ซื้อ CDO เท่านั้น แต่ต้องจ่ายให้บริษัทที่แทงว่า CDO จะพินาศด้วย

นี่คือเล่าแบบคร่าวมากๆ ข้ามส่วนย่อยๆ ไปพอสมควร ถ้ามีท่อนไหนงงๆ ก็มาเม้นถามกันได้เลย จะพยายามหาคำตอบมาให้เท่าที่หาได้

#siamstr
Author Public Key
npub1r3z6vly6sadmng8eu2ud8hszu5qwpamsnv8vd5tetl3lll9azm6q386st7