Why Nostr? What is Njump?
2023-10-20 00:27:47

เปิดโปงกลวิธีที่ IMF และธนาคารโลก ใช้กดขี่ประเทศยากจน และผ่องถ่ายทรัพยากรสู่ประเทศร่ำรวย (ตอนที่ 15)

15. จำนวนคนที่ต้องตายจากการปรับโครงสร้าง

“สำหรับธนาคารโลกแล้ว การพัฒนาหมายถึงการเติบโต... แต่การเติบโตที่ไม่มีควบคุมนั้นคืออุดมการณ์ของเซลล์มะเร็ง

–Mohammed Yunus

ผลกระทบทางสังคมจากการปรับโครงสร้างนั้นมหาศาล และแทบไม่ถูกพูดถึงในการวิเคราะห์นโยบายธนาคารโลกและกองทุน IMF พวกเขามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่กลับมีการศึกษาด้านผลกระทบต่อสุขภาพระดับโลกน้อยมาก

นักวิจัยอย่างคุณ Ayittey คุณ Hancock และคุณ Payer ได้ยกตัวอย่างที่น่าตกใจระหว่างช่วงยุค 1970 ถึง 1980 ดังนี้ :

  • ในช่วงระหว่างปี 1977 และ 1985 ประเทศเปรูได้ดำเนินการปรับโครงสร้างตามที่ IMF กำหนด จนรายได้เฉลี่ยต่อประชากรของชาวเปรูลดลงกว่าร้อยละ 20 และเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 160 และเมื่อถึงปี 1985 ค่าแรงลดเหลือเพียงร้อยละ 64 เทียบกับค่าแรงในปี 1979 และเหลือเพียงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับปี 1973 นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของเด็กที่ขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 42 ของประชากร กลายเป็นร้อยละ 68 ของประชากร
  • ในช่วงระหว่างปี 1984 และ 1985 ประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองของมากอสทำการปรับโครงสร้างตาม IMF อีกครั้ง หลังจากนั้น 1 ปีระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP) ต่อประชากร ถดถอยลงไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 1975 ในขณะที่รายได้ที่แท้จริงของพนักงานงานในเขตเมืองปรับตัวลดลงร้อยละ 46
  • ในประเทศศรีลังกา ผู้คนที่จนที่สุดกว่าร้อยละ 30 ต้องทนทุกข์จากการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของปริมาณแคลอรีที่พวกเขาได้รับต่อวัน หลังจากประเทศเข้ารับการปรับโครงสร้างมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ
  • ในประเทศบราซิล จำนวนประชากรที่ขาดสารอาหารพุ่งขึ้นจากเดิม 27 ล้านคน (ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของประชากร) ในปี 1961 สู่ระดับ 86 ล้านคน (ซึ่งถือเป็น 2 ใน 3 ของประชากร) ในปี 1985 หลังจากการเข้ารับการปรับโครงสร้างกว่า 10 ครั้ง
  • ในช่วงระหว่างปี 1975 ถึง 1984 ประเทศโบลิเวียซึ่งทำตามคำแนะนำของ IMF พบว่าประชาชนทั่วไปต้องใช้ชั่วโมงทำงานมากขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 5 เท่า เพื่อหาซื้ออาหารให้ได้พลังงาน 1,000 แคลอรี เช่น ขนมปัง ถั่ว ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำตาล มันฝรั่ง นม หรือคีนัว
  • หลังจากการปรับโครงสร้างในประเทศจาเมกาในปี 1984 อำนาจการซื้อของเงินจำนวน 1 จาเมกาดอลลาร์เพื่อให้ได้รับอาหารที่มีพลังงานเพียงพอ ร่วงลงภายในระยะเวลาเพียง 14 เดือน จากที่เคยซื้อแป้งได้พลังงาน 2,232 แคลอรี ลดเหลือเพียง 1,443 แคลอรี จากที่เคยซื้อข้าวได้พลังงาน 1,649 แคลอรี เหลือเพียง 905 แคลอรี จากที่เคยซื้อนมข้นจืดได้พลังงาน 1,037 แคลอรี เหลือเพียง 508 แคลอรี และจากที่เคยซื้อเนื้อไก่ได้พลังงาน 220 แคลอรี กลับเหลือเพียง 178 แคลอรี
  • การปรับโครงสร้างส่งผลให้ค่าแรงที่แท้จริงของชาวเม็กซิกันในช่วงทศวรรษ 1980 ลดลงมากกว่าร้อยละ 75 โดยในปี 1986 จำนวนชาวเม็กซิกันผู้มีรายได้น้อยประมาณร้อยละ 70 “แทบจะต้องเลิกกินข้าว ไข่ ผลไม้ ผัก และนม (ไม่ต้องพูดถึงเนื้อวัวหรือปลา) แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลของพวกเขาต้องจ่ายเงิน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือเท่ากับ 18,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อนาที เพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้ พอถึงทศวรรษ 1990 “ครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คนที่หาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าแรงขั้นต่ำนั้นมีปัญญาหาซื้อสิ่งของจำเป็นได้เพียงร้อยละ 25”
  • ระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product: GNP) ต่อประชากรของประเทศในเขตแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ( Sub-Saharan Africa) ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 624 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1980 เหลือเพียง 513 ดอลลาร์สหรัฐในปี 1998 การผลิตอาหารต่อประชากรก็ลดลง โดยดัชนีการผลิตอาหารลดจาก 105 จุดในปี 1980 ลงสู่ 92 จุดในปี 1997 และมีการนำเข้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 65 ในช่วงระหว่างปี 1988 ถึง 1997

ตัวอย่างเหล่านี้ ถึงแม้จะน่าเศร้า แต่ก็แสดงให้เห็นได้แค่ภาพเล็ก ๆ ที่ปะติดปะต่อกันของผลกระทบใหญ่หลวงจากนโยบายธนาคารโลกและ IMF ที่ทำร้ายสุขภาพของคนยากจนบนโลก

image

ในช่วงปี 1980 ถึง 1985 นั้น โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีจะมีประเทศโลกที่สามประมาณ 47 ประเทศเข้ารับการปรับโครงสร้างกับ IMF และประเทศกำลังพัฒนา 21 ประเทศเข้ารับเงินเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือในภาคอุตสาหกรรมจากธนาคารโลก และในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีถึงร้อยละ 75 ของประเทศในเขตลาตินอเมริกาและแอฟริกาที่รายได้ต่อประชากรและสภาพความเป็นอยู่ของเด็กย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

มาตรฐานการใช้ชีวิตที่ลดต่ำลงนั้นดูสมเหตุสมผล เมื่อเราพิจารณาว่านโยบายของธนาคารโลกและ IMF ได้หล่อหลอมสังคมให้สนใจแต่การส่งออกสินค้าที่ต้องแลกมาด้วยความถดถอยของการบริโภคภายในประเทศ และในขณะเดียวกันก็ทำลายความมั่นคงทางอาหารและบริการสาธารณสุขของตนเองอีกด้วย

ในช่วงระหว่างการเข้ารับการปรับโครงสร้างจาก IMF ค่าแรงที่แท้จริงในประเทศอย่าง เคนยาร่วงลงมากกว่าร้อยละ 40 และหลังจากที่กู้เงินธนาคารโลกและ IMF ไปกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการผลิตอาหารต่อประชากรของเคนยาลดลงไปเกือบร้อยละ 20 ในช่วงระหว่างปี 1960 ถึง 1994 ในขณะเดียวกันรายจ่ายด้านสาธารณสุขใน “ประเทศที่เข้าร่วมโครงการของ IMF และธนาคารโลก” นั้นลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ในช่วงทศวรรษ 1980

เมื่อใดที่ความมั่นคงทางอาหารและระบบสาธารณสุขพังทลาย เมื่อนั้นจะมีคนที่ต้องตาย

รายงานจากปี 2011 และ 2013 แสดงให้เห็นว่าประเทศที่เข้ารับเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างมีอัตราการตายในเด็กสูงกว่าประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วม และบทวิเคราะห์ในปี 2017 “แสดงความเกี่ยวข้องระหว่างการปรับโครงสร้าง และผลกระทบที่เลวร้ายต่อสุขภาพของแม่และเด็กได้อย่างชัดเจนไร้ข้อโต้แย้ง” ในขณะที่งานวิจัยปี 2020 ซึ่งพิจารณาข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 137 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 1980 ถึง 2014 พบว่า “การปรับโครงสร้างนั้นทำให้ระบบสาธารณสุขแย่ลง และมีส่วนในการเพิ่มอัตราการตายของทารกแรกเกิด” นอกจากนี้ในงานวิจัยปี 2021 ยังได้ข้อสรุปว่าการปรับโครงสร้างนั้น “มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความพิการและการตายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องสามารถป้องกันได้ด้วยซ้ำ”

มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรู้ว่ามีผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กจำนวนมากแค่ไหนที่ถูกฆ่าจากผลของนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของธนาคารโลกและกองทุน IMF

นักสนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างคุณ Davidson Budhoo กล่าวว่าเด็กกว่า 6,000,000 คนเสียชีวิตทุกปีในแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกาในช่วงระหว่างปี 1982 ถึง 1994 สาเหตุเพราะประเทศเหล่านี้เข้ารับการปรับโครงสร้างกับธนาคารโลกและ IMF ส่งผลให้ตัวเลขยอดคนตายจากน้ำมือของธนาคารโลกและ IMF นั้นใกล้เคียงกับจำนวนคนตายจากน้ำมือของโจเซฟ สตาลิน และเหมา เจ๋อตงทั้งหมดรวมกัน


หมายเหตุผู้แปล : - โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) เป็นผู้นำของอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งปกครองตั้งแต่ช่วงปี 1924-1953

- เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung) เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างปี 1949-1976

มันเป็นไปได้จริง ๆ หรือที่จะมีจำนวนคนตายมากมายขนาดนั้น..

พวกเราคงจะไม่มีวันรู้คำตอบ แต่หากเราดูจากข้อมูลแล้ว เราอาจจะเริ่มเห็นอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ เช่น ในงานวิจัยจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งก็เหมือนประเทศอื่น ๆ ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับธนาคารโลกและ IMF มาโดยตลอด ได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงว่าการลดลงของ GDP ในทุก ๆ ร้อยละ 2 จะส่งผลให้มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1

ทีนี้เมื่อเราพิจารณาผลลัพธ์ของการปรับโครงสร้าง GDP ของประเทศโลกที่สามหลายประเทศในระหว่างทศวรรษ 1960 ถึง 1990 ซึ่งตัวเลข GDP ลดฮวบลงในระดับเลขสองหลัก ทั้งที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรในระดับสูง แต่ทำไมเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กลับชะลอตัวและหดตัวลงในช่วงระยะเวลา 15-20 ปี ซึ่งหมายความว่านโยบายของธนาคารโลกและ IMF น่าจะคร่าชีวิตคนไปนับหลายสิบล้านคนในช่วงเวลานั้น

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจำนวนคนที่ตายจะเป็นเท่าไรก็ตาม จะมีสิ่งที่แน่นอนอยู่ 2 สิ่ง คือ :

  1. สิ่งที่เกิดขึ้นคืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
  2. จะไม่มีผู้ปฏิบัติงานของธนาคารโลกและกองทุน IMF คนไหนที่จะถูกจับเข้าคุก เพราะความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น

image

ความจริงที่ไม่อาจหลีกหนีได้คือคนหลายล้านคนในพื้นที่หนึ่งต้องล้มตาย เพื่อทำให้ชีวิตของผู้คนอีกหลายล้านคนในอีกพื้นที่หนึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันคือความเป็นจริงที่ว่าความเจริญของชาติตะวันตกนั้นเป็นผลจากค่านิยมที่เกิดจากการตื่นรู้ เช่น หลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม และการเคารพสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ

แต่ความเป็นจริงอีกด้านที่ไม่ถูกกล่าวถึง คือความเจริญเหล่านั้นก็คือผลจากการขโมยทรัพยากรและเวลามาจากประเทศที่ยากจนเช่นกัน

การขโมยความมั่งคั่งและแรงงานไปจากประเทศโลกที่สามจะเป็นสิ่งที่ถูกปล่อยให้ลอยนวลไปตลอดกาล แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังคงเห็นผลของมันได้จนถึงทุกวันนี้ มันยังคงฝังรากอยู่ในสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคุณภาพของชีวิตของชาติที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นครั้งถัดไปที่คุณเดินทางไปยังเมืองอย่างลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส อัมสเตอร์ดัม หรือเบอร์ลิน ผู้เขียนขอแนะนำให้คุณลองออกไปเดินเล่นและหาสถานที่สักจุดเพื่อหยุดชมทิวทัศน์ของเมืองที่งดงามน่าประทับใจ พร้อมตริตรองเรื่องราวเหล่านี้ดูอีกครั้ง

เหมือนดังคำโบราณที่ว่าไว้ “เราต้องผ่านความมืดมิดเสียก่อน ก่อนที่จะไปสู่แสงสว่าง”


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)

Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04