Why Nostr? What is Njump?
2023-09-25 07:19:14

เมื่อรัฐคือต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอาร์เจนตินา

ประเทศอาร์เจนตินาประสบกับวิกฤตเรื้อรังทางเศรษฐกิจมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เศรษฐกิจเกิดความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลงมากถึง 20% ภาคการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงักทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวต้องหาแนวทางในการแก้ไขอย่างเร่งด่วน (Veigel 2005) โดยการแก้ไขปัญหาก็เลยมาถึงปีทศวรรษ 1990s ของรัฐบาลผู้นิยมลัทธิเปรอน (Peronist) อย่างคาร์ลอส เมเนม (Carlos Menem) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิปดีของอาร์เจนตินาในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1989 เขาดำเนินนโยบาย "การบำบัดด้วยอาการช็อก" ("Shock Theraphy") ตามนโยบายเสรีนิยมใหม่ ทำให้การบริหารภาครัฐเริ่มมีการทรงตัวมากขึ้นจะเห็นได้จากการเริ่มต้นทำให้ภาครัฐมีวินัยทางการคลัง ถึงแม้ว่าการขาดดุลงบประมาณยังคงอยู่ราว ๆ 16% ต่อจีดีพี (de Beaufort Wijnholds, J. Onno 2003) พร้อมกันนั้นภายใต้การบริหารของคาร์ลอส เขาได้ริเริ่มแปรสภาพกิจการรัฐไปเป็นของเอกชน ยกเว้น ธนาคาร ทำให้ผลลิตภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนเริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่อาร์เจนตินายังต้องประสบปัญหากับวิกฤตค่าเงินเฟ้อที่ยังคงรุนแรง (hyperinflation)

image

นับตั้งแต่สังคมอาร์เจนตินากลับเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1983 ทำให้ประเทศต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่ วิกฤตเงินเฟ้อที่รุนแรงในปี ค.ศ.1989 และ ค.ศ.1990 จนมาถึงอีกทีหนึ่งในปี ค.ศ.2001 ที่ทั้งสองเหตุการณ์มีหนี้สาธารณะในระดับเท่ากันเหมือนเดิม เงินเฟ้อนั้นเกิดมาจาก "การพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ" (print money) ทำให้ประเทศต้องเผชิญหน้ากับการเสื่อมของค่าเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความไม่สมดุลของหนี้สาธารณะต่าง ๆ มันบานปลายมากขึ้น นักเศรษฐศาสตร์นาม เอสเตบาน โดมัค (Esteban Domecq) สรุปเอาไว้ว่าเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเหมือน "วงจรอุบาทว์" ที่จะต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามลำดับดังนี้ *(i).เมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องมีความต้องการความช่วยเหลือทางสังคมเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจะต้องเพิ่มรายจ่ายสาธารณะที่ส่งเสริมการขาดดุล (ii).การขาดดุลเป็นต้นเหตุปัญหาทางการเงินของภาครัฐทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นและค่าเงินเปโซ (peso) เกิดการเสื่อมค่าอันเป็นต้นเหตุของ "เงินเฟ้อครั้งใหญ่" ตลอดประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา และ (iii). วิกฤตเศรษฐกิจก็ได้เกิดขึ้นทำให้มีอัตราว่างงานและความยากจนอยู่ในระดับที่สูง แล้วจากนั้นทางแก้ปัญหาก็ต้องวนไปที่ข้อ (i) อีกครั้งอย่างไม่รู้จักจบ*

ส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาอันเป็นต้นตอของวงจรอุบาทว์ก็คือ "การขาดดุลทางการคลัง" (fiscal deficit) เป็นการก่อหนี้สาธารณะเพื่อทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมากที่นำไปสู่การเสื่อมสลายของสังคมและเศรษฐกิจ ตราบเท่าที่รัฐไม่คงสภาพทางการเงินให้สมดุลกันก็ไม่มีทางออกจากปัญหานี้ได้

สังคมอาร์เจนตินาในช่วงอดีตจนถึงปัจจุบันมีความโหยหาการออกจากวังวงปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ แต่เนื่องด้วยวงจรอุบาทว์นี้ยากที่จะแก้ไขทำให้กลุ่มการเมืองที่นิยมลัทธิเปรอน (Peronism) มีความนิยมในการเมืองระดับชาติของอาร์เจนตินามาโดยตลอด พวกเขายืนกรานที่จะสนับสนุนให้*รัฐแทรกแซงเศรษฐกิจ (state intervention) การพยายามขัดขวางการค้าเสรี (free trade) การสนับสนุนลัทธิการป้องกันการค้า (protectionism) ชาตินิยม (nationalism) การผดุงความยุติธรรมทางสังคม (social justice) การเพิ่มอัตราภาษีที่สูง (high taxes) และการให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้คน* นโยบายเหล่านี้เป็น "แกนความคิด" ที่ทำให้สังคมและประเทศใด ๆ ก็ตามไม่สามารถก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ในแวดวงการเมืองของอาร์เจนตินาก็มีผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อยู่ไม่น้อยเพราะแนวทางพรรคการเมืองของเปรอนนั้นมุ่งเน้นไปหาประชานิยมและภาพลักษณ์ของผู้นำทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวชูโรงให้แนวคิดแบบผู้นิยมเปรอนยังคงอยู่มีความนิยมอยู่ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลบางช่วงของอาร์เจนตินาก็ไม่ใช่ลัทธิผู้นิยมเปรอน แต่ก็มีแนวคิด “การแทรกแซง” (interventionism) ที่ไม่สามารถสลัดให้ออกจากการเมืองได้ ซึ่งมันก็นำไปสู่ควาไม่มีสเถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ดี เมื่อมีคนบางส่วนของอาร์เจนตินาตระหนักได้ว่าทางออกของปัญหาของพรรคการเมืองที่ชู "ประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ" ต้องให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวนั้นไม่ใช่ทางออกที่ยั้งยืนและแก้ไขปัญหาจริง ๆ อันเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนชาวอาร์เจนตินาเป็นการปูทางให้ขบวนการอิสรนิยมในอาร์เจนตินาอย่าง ฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) ที่ต้องการ "ถอนรากถอนโคน" ของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาลเอง มันไม่ได้เกิดจากทุนนิยมเป็นต้นเหตุแต่อย่างใดที่ฝ่ายซ้ายที่มองประเด็นนี้อย่างผิดฝาผิดตัวกล่าวหา

image

#siamstr

บรรณานุกรม

de Beaufort Wijnholds, J. Onno. "The Argentine Drama: A View from the IMF Board". The Crisis that Was Not Prevented: Lessons for Argentina, the IMF, and Globalisation. Fondad. p. 102.

Lacalle, Daniel. How Money Printing Destroyed Argentina and Can Destroy Others. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2022.

Russo, Nicolas. Argentina: A Country Caught in an Endless Loop of Fin ancial Crises. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2014.

Salerno, Joseph T. Myths and Lessons of the Argentine “Currency Crisis”. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2014.

Salerno, Joseph T. Argentina Has a Chronic Problem with Monetary-Policy Failure. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2018.

Veigel, Klaus Friedrich (2005). "The Great Unraveling: Argentina 1973–1991". Governed by Emergency: Economic Policy-making in Argentina, 1973–1991. Princeton University.

Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m